วันที่ 31 มกราคม 2555 09:00
กิติชัย เตชะงามเลิศ มองตลาดหุ้นปีนี้ 'เล่นง่าย-ผันผวนน้อย'
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
เซียนหุ้นร้อยล้าน 'กิติชัย เตชะงามเลิศ' ประเมินหลังเดือนกุมภาพันธ์ SET มีโอกาสปรับตัวแรงที่ 950-980 จุด ก่อนจะค่อยๆ Sideway Up
โดยจุดสูงสุดของปีนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ 1,200 จุด บวกลบ
กิติชัย เตชะงามเลิศ นักลงทุนรายใหญ่เจ้าของพอร์ตลงทุน "หลายร้อยล้านบาท" มองว่า ในปี 2555 ตลาดหุ้นน่าจะเล่นง่ายขึ้น ความผันผวนจะน้อยกว่าปี 2554 โดยในปีที่ผ่านมา SET Index วิ่งขึ้นไปสูงสุดที่ 1,145.37 จุด แล้วลงมาต่ำสุด 843.69 จุด มีความผันผวนถึง 301.38 จุด
"ผมคาดว่าปีนี้เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ SET น่าจะทำจุดสูงสุดประมาณ 1,080-1,122 จุด (1,122 จุด เป็นแนวต้านที่แข็งแกร่ง) ช่วงที่หุ้นขึ้นน่าจะค่อยๆ ขายหุ้นลดพอร์ต ดัชนีคงจะปรับตัวแรงๆ ลงมาที่ 950-980 จุด จากการคาดการณ์กำไรที่จะแย่ในไตรมาส 4 ปี 2554 อย่าลืมนะครับว่า SET วิ่งมาจาก 843.69 จุดขึ้นมากว่า 1,060 จุด ยังไม่มีการปรับตัวจริงๆ จังๆ เลย ทำให้ฐานที่ปรับตัวขึ้นไปไม่แข็งแรง"
เขายังมองว่า หลังจากดัชนีปรับฐานเรียบร้อยแล้วตลาดน่าจะค่อยๆ Sideway Up (ค่อยๆ ขึ้น) โดยจุดสูงสุดของปีนี้ คาดว่าน่าจะอยู่ที่ 1,200 จุด บวกลบ แต่มีความน่าจะเป็นที่ดัชนีจะขึ้นสูงกว่า 1,200 จุด เพราะว่าตั้งแต่ไตรมาส 2 เศรษฐกิจไทยจะดีมากเมื่อเทียบปีต่อปี หรือไตรมาสต่อไตรมาส จากความต้องการที่อัดอั้นจากการหยุดผลิตของอุตสาหกรรมรถยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์โดยเฉพาะฮาร์ดดิสก์ จะเริ่มเห็นการบูรณะซ่อมแซมสร้างใหม่ของโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ และบ้านเรือนของประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม
สิ่งเหล่านี้จะกระตุ้น GDP ของไทยให้เติบโต สังเกตจากญี่ปุ่นที่ประสบภัยสึนามิเมื่อเดือนมีนาคม 2554 หลังจากนั้นไตรมาส 3 ญี่ปุ่นมี GDP เติบโต 5.7% ซึ่งเป็นการเติบโตที่สูงมาก จากปกติจะโตเพียง 1-2% เท่านั้น ซึ่งประเทศไทยน้ำท่วมหนักในไตรมาส 4 ปี 2554 ดังนั้นเชื่อได้เลยว่าไตรมาสที่ 2 ปีนี้ เศรษฐกิจไทยจะโตกระฉูดแน่ และไตรมาส 4 ปี 2555 ก็จะเป็นอีกไตรมาสหนึ่งถ้าเทียบปีต่อปีที่จะโตมาก เพราะว่าฐานไตรมาส 4 ปี 2554 เราติดลบ และโครงการป้องกันน้ำท่วมน่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้
ประกอบกับไตรมาส 4 ปีนี้สหรัฐอเมริกาจะเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ ปกติปีที่จะเลือกตั้งเศรษฐกิจของอเมริกาจะดี ขณะนี้ก็เริ่มเห็นตัวเลขคนว่างงานที่ลดลงและการคาดการณ์ยอดค้าปลีกของอุตสาหกรรมค้าปลีกของอเมริกา เริ่มมีมุมมองที่ดีขึ้น
"ผมเชื่อว่ารัฐบาลนายบารัก โอบามา ต้องพยายามทำให้ตัวเลขทางเศรษฐกิจให้ดูดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะเขาอยากกลับมาเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ถ้าเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาเริ่มฟื้นจริงก็จะไปหักล้างกับปัญหาความวุ่นวายทางเศรษฐกิจของยุโรป ซึ่งผมยังเชื่อว่าเศรษฐกิจยุโรปไม่น่าจะเลวร้ายไปกว่านี้มาก ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น GDP ของจีน ที่เพิ่งประกาศออกมาก็ดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ และปีนี้ มีแนวโน้มที่จีนจะมีนโยบายผ่อนคลายทางเศรษฐกิจ หลังจากมีมาตรการเข้มงวดมานาน เนื่องจากปัญหาเงินเฟ้อเริ่มชะลอตัวลงแล้ว"
เซียนหุ้นรายใหญ่วิเคราะห์ต่อว่า ถ้าเครื่องจักรใหญ่ของโลก 2 ตัว คือ สหรัฐอเมริกา และจีน เริ่มทำงานตลาดหุ้นที่กังวลว่าจะปรับตัวลงแรงๆ ก็ไม่น่าจะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นการลงทุนในปี 2555 น่าจะง่ายกว่าปี 2554 มาก จากความผันผวนที่น้อยลงแล้ว ยังมองตลาดเป็นขาขึ้นเพียงแต่อาจปรับตัวแรงในช่วงต้นปี
นอกจากนี้การขึ้นเงินเดือนพนักงานที่จบปริญญาตรีเป็นขั้นต่ำ 15,000 บาทต่อเดือน และขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันในบางจังหวัดจะทำให้กลุ่มคนเหล่านี้มีรายได้มากขึ้น การจับจ่ายใช้สอยย่อมมากขึ้นตามไปด้วย และนโยบายบ้านหลังแรกและรถยนต์คันแรก จะไปกระตุ้นความต้องการรถและบ้านมากขึ้น
สุดท้ายการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 30% เป็น 23% ในปีนี้ และเหลือ 20% ในปีหน้า จะทำให้กำไรของบริษัทต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ค่า P/E ของบริษัทจดทะเบียนลดต่ำลงโดยอัตโนมัติ แล้วปีนี้จะไม่ซื้อหุ้นไทยได้อย่างไร
สำหรับหุ้นรายตัวกิติชัยวิเคราะห์ให้ฟังว่า ส่วนตัวชอบหุ้นกรุงเทพประกันชีวิต (BLA) และหุ้นไทยพาณิชย์ประกันชีวิต (SCBLIF) เหตุผลเพราะหุ้นกลุ่มประกันชีวิตรัฐบาลให้การส่งเสริม และทั้ง 2 ตัวนี้มีอัตราการเติบโตสูง แต่ค่า P/E ยังต่ำมาก นอกจากนี้ยังชอบหุ้น สหวิริยาสตีลอินดัสตรี (SSI) ในปี 2556 คาดว่าจะเป็นปีทองของ SSI เพราะว่าบริษัทที่ไปลงทุนไว้ที่ประเทศอังกฤษจะผลิตได้เต็มกำลังการผลิต เป็นหุ้นเทิร์นอะราวด์ที่น่าสนใจ จากข้อมูลโครงสร้างผู้ถือหุ้น SSI ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2554 พบว่าเซียนหุ้นรายนี้ถือหุ้น SSI อยู่จำนวน 125 ล้านหุ้น สัดส่วน 0.69%
นอกจากนี้ ยังมีหุ้นอีก 2 ตัวที่กิติชัยแนะนำ คือ หุ้น ห้องเย็นเอเชี่ยน ซีฟู้ด (ASIAN) เงินบาทที่อ่อนค่าทำให้รายได้และกำไรของ ASIAN จะดีเพราะว่าสินค้าส่วนใหญ่เป็น Local Content ปีนี้ยอดส่งออกกุ้งของอุตสาหกรรมโดยรวมจะเติบโตได้ดี ตัวสุดท้ายหุ้น อาร์เอส (RS) กิติชัยให้เหตุผลที่ชอบหุ้นตัวนี้ว่า ชอบธุรกิจทีวีดาวเทียมที่อาร์เอสเป็นเจ้าของคอนเทนท์ที่ดี และตั้งแต่ไตรมาส 2 ปีนี้คงเห็นการฟื้นตัวของรายได้และกำไรที่ดีขึ้น ซึ่งจากข้อมูลโครงสร้างผู้ถือหุ้น RS ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2554 พบว่ากิติชัยถือหุ้น RS อยู่จำนวน 13 ล้านหุ้น สัดส่วน 1.47%
นักลงทุนรายใหญ่ 'กิติชัย เตชะงามเลิศ' ลอกคราบหุ้นประกันชีวิต วิเคราะห์ SCBLIF ปะทะ BLA เทียบกันปอนด์ต่อปอนด์ ทำไม! เขาถึงเชื่อว่า SCBLIF เหนือกว่าด้วยประการทั้งปวง
ติดค้างกันเอาไว้สำหรับบทสรุปของ
กิติชัย เตชะงามเลิศ นักลงทุนรายใหญ่เจ้าของพอร์ตหุ้น "หลายร้อยล้านบาท" ที่ส่วนตัวเขาเชื่อว่าหุ้น ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต (SCBLIF) ซึ่งเปลี่ยนชื่อมาจาก บมจ.ไทยพาณิชย์นิวยอร์คไลฟ์ประกันชีวิต (SCNYL) คือหุ้นที่ "ดีที่สุดในตลาดหลักทรัพย์" ถ้าตัดเรื่องสภาพคล่องในการซื้อขายออกไป
กิติชัยเป็นผู้หนึ่งที่ถือหุ้น SCBLIF มายาวนาน 4-5 ปี เขาเคยติดอันดับผู้ถือหุ้น "อันดับ 8" ของบริษัทจำนวน 201,100 หุ้น มีต้นทุนหุ้นละประมาณ 70 บาท (ปัจจุบัน 462 บาท) ลงทุนตั้งแต่ยังเป็น บมจ.ไทยพาณิชย์นิวยอร์คไลฟ์ประกันชีวิต (SCNYL) ก่อนที่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จะเข้าไปซื้อหุ้นคืนทั้งหมดจาก นิวยอร์คไลฟ์ประกันชีวิต บริษัทประกันชีวิตยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกา และปัจจุบัน SCB เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทประกันชีวิตแห่งนี้ 94.66% หุ้นตัวนี้มี "จุดด้อย" เพียงอย่างเดียวคือมี "สภาพคล่องการซื้อขายต่ำ"
เสน่ห์ของธุรกิจประกันชีวิตในประเทศไทย
เซียนหุ้นรายใหญ่เริ่มต้นบทวิเคราะห์จากภาพใหญ่ของธุรกิจประกันชีวิตในประเทศไทย เขาแบ่งการวิเคราะห์ออกเป็น 4 ประเด็นด้วยกัน
หนึ่ง..คนไทยที่ถือกรมธรรม์ประกันชีวิตมีเพียง 28% ขณะที่คนญี่ปุ่นถือกรมธรรม์มีมากกว่า 100% (บางคนถือมากกว่า 1 กรมธรรม์) จะเห็นได้ว่าโอกาสของการเติบโตของธุรกิจประกันชีวิตในประเทศไทยยังมีอีกสูงมาก
สอง..สังคมไทยเข้าสู่สังคม "ผู้สูงอายุ" เมื่อปี 2551 มีมากกว่า 10% ของประชากรที่อายุเกิน 60 ปี และจะเข้าสู่สังคม "ผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบ" ในปี 2566 มีมากกว่า 20% ของประชากรที่อายุเกิน 60 ปี คืออีก 12 ปีข้างหน้า ดังนั้นธุรกิจประกันชีวิตจะน่าสนใจมาก แนวโน้มคนจะเริ่มหันมาทำประกันชีวิตมากขึ้นเพื่อคุ้มครองและดูแลตัวเองในยามแก่เฒ่า รัฐบาลคงไม่มีงบประมาณมากพอที่จะดูแลได้อย่างเพียงพอ เมื่อเป็นเช่นนี้รัฐบาลจะหันมาสนับสนุนธุรกิจประกันชีวิตในประเทศมากขึ้นอย่างแน่นอน
รูปแบบการสนับสนุนที่ผ่านมามีการเพิ่มค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตจาก 50,000 บาท เป็น 100,000 บาท แล้วก็เพิ่มลดหย่อนประกันแบบบำนาญเพิ่มอีก 200,000 บาท เป็นต้น บริษัทประกันชีวิตเองก็จะขายสัญญาคุ้มครองสุขภาพพ่วงอีกได้มากขึ้น
สาม..ถ้าคุณซื้อประกันชีวิตกับบริษัทใดก็ตาม ปีถัดๆไปคุณก็ยังต้องซื้อประกันชีวิตกับบริษัทนั้นๆอีก จะกี่ปีก็แล้วแต่ประเภทของกรมธรรม์ที่คุณซื้อ ขณะที่คุณซื้อยาสีฟัน ครั้งนี้คุณอาจจะซื้อคอลเกต ที่ร้าน 7-11 แต่ครั้งต่อไปคุณอาจจะซื้อยาสีฟันยี่ห้อฟลูออคารีล ที่ร้านท็อป ซูเปอร์มาร์เก็ต เห็นมั๊ยว่าคุณอาจจะเปลี่ยนยี่ห้อที่ใช้ และเปลี่ยนสถานที่ที่ซื้อ แต่ประกันชีวิตคุณยังจ่ายเงินค่าเบี้ยกรมธรรม์ตัวเดิมกับบริษัทเดิม ซึ่งบางกรมธรรม์คุณต้องส่งเบี้ยมากกว่า 15 ปีก็มี นี่คือ "เสน่ห์" ของธุรกิจประกันชีวิตที่ธุรกิจอื่นไม่มี
สี่..ค่าใช้จ่ายที่ "แพงที่สุด" ของธุรกิจประกันชีวิตก็คือ "ค่าคอมมิชชั่น" ที่บริษัทต้องจ่ายให้กับ "ตัวแทนขาย" กรมธรรม์บางประเภทปีแรกอาจจะจ่ายเกือบ 50% ปีที่ 2 อาจจะเหลือ 20% ปีที่ 3 เหลือ 8% ปีที่ 4 เหลือ 5% และลดลงไปเรื่อยๆ ขณะที่เบี้ยเรียกเก็บจากลูกค้า "เท่าเดิมทุกปี" คุณเห็นมั๊ยว่าทุกปีบริษัทมีรายรับจากลูกค้าคนเดียวกันเท่ากันทุกปี ขณะที่ค่าใช้จ่าย (ค่าคอมมิชชั่น) "ลดลงทุกปี" มีธุรกิจไหนที่จะแสนดีแบบนี้ ถ้าเป็นธุรกิจประเภทอื่นๆมีแต่ต้นทุนจะแพงขึ้นทุกปี
เปรียบเทียบระหว่าง SCBLIF กับ BLA
ข้อที่ 1 การวิเคราะห์กำไรสุทธิย้อนหลัง SCBLIF มีข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี (2548-2553) ซึ่งสะท้อนถึงการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และแข็งแกร่งโดย "อัตราเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปี" หรือ Compound Annual Growth Rate (CAGR) 5 ปี เท่ากับ 48.83% ถึงแม้ในปี 2551 เกิดวิกฤติซับไพร์มทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกรวมทั้งไทยตกต่ำ แต่จะเห็นได้ว่าในปีนั้น SCBLIF ยังมีกำไรเติบโตถึง 50% ขณะที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ขาดทุนกันมากมาย หรือกำไรลดต่ำลงมาก SCBLIF มีรายได้เติบโตมาจากการทำ Bancassurance (ช่องทางการจำหน่ายผ่านธนาคาร) ผ่านทางธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งปัจจุบันเป็นธนาคารที่มีสาขามากที่สุดในประเทศไทย หรือมากกว่า 1,000 สาขาแล้ว ซึ่งสาขาเหล่านี้เป็นช่องทางที่ดีสำหรับการขายประกันชีวิต เพราะผู้ซื้อรู้สึกเชื่อถือมากกว่าการซื้อประกันจากตัวแทน
จากฐานลูกค้าของธนาคารไทยพาณิชย์ที่ใหญ่ ย่อมส่งผลดีต่อ SCBLIF เป็นอย่างมาก และ SCBLIF มีเบี้ยประกันขายผ่านธนาคารมากเป็นอันดับ 1 และจากการที่ทางการอนุญาตให้บริษัทประกันชีวิตสามารถทำธุรกิจได้หลากหลายขึ้น เช่น ทำธุรกรรมยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ (SBL) กับแบงก์ชาติได้โดยไม่จำกัด
นอกจากทำ Bancassurance ผ่าน SCB แล้ว ยังทำกับ ธอส. และล่าสุดได้เป็นบริษัทประกันชีวิตบริษัทเดียวที่สามารถขายประกันผ่านห้างเทสโก้ โลตัส ที่มีสาขามากถึง 136 แห่ง และปัจจุบัน SCBLIF พยายามเพิ่มตัวแทนให้มากขึ้นซึ่งจะเห็นได้ว่า ยอดขายผ่านตัวแทนโตขึ้นในระดับที่สูงมาก รวมทั้งช่องทางขายผ่านโทรศัพท์ (เทเลมาร์เก็ตติ้ง) และผ่านทางโบรกเกอร์ต่างๆ แล้วยังเน้นขายสินค้าให้กลุ่มราชการมากขึ้น
สรุป 5 เดือนแรกของปี 2554 SCBLIF มีเบี้ยรับรวมเติบโต 20% โดยผ่าน Bancassurance เติบโต 22% และตัวแทนโต 55% และจากสเปเชียล มาร์เก็ตติ้ง โตอีก 80% และกำลังเจรจาทำธุรกิจกับตลาดสหกรณ์ออมทรัพย์และ ธกส.
ข้อที่ 2 การวิเคราะห์อัตราส่วนต่างๆ จะเห็นได้ว่า P/E ของ SCBLIF ประมาณ 14 เท่า ขณะที่ P/E ของหุ้นกรุงเทพประกันชีวิต (BLA) เกือบ 20 เท่า ทั้งๆที่ SCBLIF มีผลประกอบการที่ตรวจสอบได้ให้เห็นเป็นระยะเวลาที่นานกว่า BLA มาก ซึ่ง BLA เพิ่มเข้าตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2552 ทำให้ไม่มีข้อมูลเปรียบเทียบ 5 ปี โดยปกติหุ้นใหม่ที่เพิ่งเข้าตลาดหลักทรัพย์ก็จะมีการแต่งตัวให้สวยงาม ต้องรอดูผลงานอีกสัก 1-2 ปี ถึงจะรู้ว่าเป็น "เพชรแท้" หรือไม่
เมื่อนำเอา Ratio ต่างๆมาเปรียบเทียบกันจะเห็นได้เลยว่า SCBLIF ดีกว่า BLA ทุกด้าน ไม่ว่า P/BV ที่ต่ำกว่า ROE และ ROA ที่สูงกว่า แม้สภาพคล่องในการซื้อขายของ SCBLIF จะด้อยกว่า BLA แต่ก็ไม่ใช่เหตุผลที่จะทำให้ SCBLIF ต้องซื้อขายที่ Valuation (การประเมินมูลค่าหลักทรัพย์) ที่ต่ำกว่า BLA ด้วย Valuation ของ BLA ในขณะนี้ ส่วนตัวคิดว่า SCBLIF ควรจะซื้อขายกันที่ 640 บาท (ไม่ใช่ 462 บาทในปัจจุบัน) ซึ่ง SCBLIF ก็เคยทำจุดสูงสุดที่ 618 บาท เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2553 ที่ผ่านมา
"ผมกล้าพูดได้เต็มปากเต็มคำว่า หุ้นที่ผม Cover อยู่ (ประมาณ 30-40 ตัว) SCBLIF เป็นหุ้นที่ดีที่สุดแล้วในตลาดหลักทรัพย์ หุ้นบางบริษัทอาจมีผลประกอบการดี แต่บางปีก็ขาดทุน หรือไม่ก็มีกำไรลดลง ยิ่งถ้าดูในปี 2551 (วิกฤติซับไพร์ม) จะเห็นได้เลยว่า SCBLIF แกร่งแค่ไหน"
กิติชัย เตชะงามเลิศ เซียนหุ้นรายใหญ่กล่าวสรุปปิดท้ายบทวิเคราะห์ของเขา