ภายใต้การเติบโตแบบ 'คอนเซอร์เวทีฟ' ทำธุรกิจแบบเงียบๆ ไม่หวือหวา แต่กลุ่ม 'โชควัฒนา' แอบซุ่มสตอรี่ใหม่ๆ ไว้เพียบ!!
การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และการเปิดประเทศของพม่า ถือเป็น "โอกาส" ครั้งยิ่งใหญ่ ขณะที่การปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท ถือเป็น "ปัจจัยเร่ง" ที่ทำให้ เครือสหพัฒน์ และ ตระกูลโชควัฒนา มีการขยับเขยื้อนครั้งใหญ่ในรอบหลายทศวรรษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยุบรวมโรงงานขนาดเล็ก และย้ายฐานการผลิตส่วนที่ใช้แรงงานคนสูงไปอยู่โรงงานแห่งใหม่ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก รวมทั้งอยู่ระหว่างการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมของเครือสหพัฒน์มูลค่าการลงทุน 3,000 ล้านบาท ที่กรุงย่างกุ้งประเทศพม่า เพื่อส่งออกสินค้าเข้าไปตีตลาดอาเซียน และยุโรป นอกจากนี้ ยังเห็นเครือสหพัฒน์ ภายใต้การนำของ บุญเกียรติ โชควัฒนา ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล เดินหน้ารุกธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ร่วมทุนกับ บมจ.ชาญอิสสระ ดีเวล็อปเมนท์ ของ สงกรานต์ อิสสระ ขึ้นโครงการ บ้านทิวทะเล ชะอำ-หัวหิน รวมทั้งร่วมทุนกับ บมจ.เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป ของ วิชา พูลวรลักษณ์ ลงขันสร้างหนังไทย 3 เรื่อง คือ 30 กำลังแจ๋ว, ไอ มิส ยู และ กทม.สวีตตี้ งบลงทุน 120 ล้านบาท แบ่งสัดส่วนการลงทุนรายละ 50% หรือเป็นการลงทุนของไอ.ซี.ซี. 60 ล้านบาท โดยเอาสินค้าของเครือเข้าไปอยู่ในภาพยนตร์เป็นอีกกลยุทธ์การสร้างแบรนด์ที่เนียนไปกับผู้ชม ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมาเครือสหพัฒน์ ดำเนินธุรกิจไม่หวือหวายึดนโยบายคอนเซอร์เวทีฟมาตลอด แต่ในยุครอยต่อของผู้บริหารเจเนอเรชั่นที่ 2 กับเจเนอเรชั่นที่ 3 เริ่มเห็นการขยับเขยื้อนที่ชัดเจนมากขึ้นมีการแถลงข่าวกับสื่อมวลชนบ่อยขึ้น กล้าที่จะพูดถึงตัวเลขรายได้และกำไรสุทธิไม่กั๊กเหมือนในอดีต รูปแบบการทำการตลาดก็มีความแปลกใหม่มากกว่าเดิม ปัจจุบันเครือสหพัฒน์มีหุ้นอยู่ในตลาดหลักทรัพย์มากที่สุดถึง 18 บริษัท มีมาร์เก็ตแคปรวมกันประมาณ 111,663 ล้านบาท โดยมี บมจ.สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง (SPI) เป็น "โฮลดิ้ง" ถือหุ้นในบริษัทต่างๆ บริหารงานโดย สันติ วิลาสศักดานนท์ เป็นเสมือน "สำนักงานทรัพย์สิน" ของกลุ่ม บุญเกียรติ โชควัฒนา คุมอาณาจักรแฟชั่น บมจ.ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล (ICC) บุญชัย โชควัฒนา คุมทัพหลวง บมจ.สหพัฒนพิบูล (SPC) พิพัฒ พะเนียงเวทย์ คุมอาณาจักรมาม่า บมจ.ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ (TF) โดยมี เจ้าสัวบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา วัย 75 ปี เป็นผู้นำสูงสุด อดีตประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สันติ วิลาสศักดานนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง (SPI) เปิดเผยว่า หลักการของเครือสหพัฒน์ มีนโยบายให้บริษัทในกลุ่มบริหารงานด้วยตัวเอง ถ้าจะมีการตัดสินใจลงทุนขนาดใหญ่ค่อยมาปรึกษาบริษัทแม่ คนภายนอกอาจมองว่าเรา (SPI) "ค่อนข้างนิ่ง" แต่ที่จริงแล้วมีการขยายธุรกิจเดิมตลอดเวลา ส่วนธุรกิจใหม่บางครั้งก็ยังไม่สามารถพูดได้บอกได้แต่ว่าในช่วง 1-3 ปีนี้ น่าจะเห็นอะไรใหม่ๆ บ้าง "ไฮไลต์สำคัญของกลุ่มเราน่าจะเป็นการลงทุนนิคมอุตสาหกรรมที่เมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า ขนาดพื้นที่ 1,500 ไร่ เรากำลังรอความชัดเจนจากรัฐบาลพม่าว่าจะออกกฎหมายการลงทุนใหม่เปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้าไปทำธุรกิจได้เต็มที่หรือไม่ ตอนนี้มีบริษัทญี่ปุ่นกับเกาหลี อยากจะร่วมทุนกับเราประมาณ 5 ราย บริษัทในเครือก็จะร่วมลงทุนในนิคมนี้ด้วย ถือเป็นการลงทุนใหญ่ครั้งสำคัญในรอบหลายปี เงินทุนที่ใช้คาดว่าระดับ 1,000-2,000 ล้านบาท" สันติ กล่าวว่า บมจ.สหโคเจน (ชลบุรี) หรือ SCG ที่ผลิตไฟฟ้าป้อนให้กับโรงงานในกลุ่ม ก็กำลังหันมารุกธุรกิจพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ปัจจุบันมีกำลังผลิตไฟฟ้าที่ศรีราชา 175 เมกะวัตต์ ที่จังหวัดลำพูน 10 เมกะวัตต์ ในปี 2556 มีแผนจะเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นอีก 25% คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี ส่วนแนวโน้มผลประกอบการปีนี้ คาดว่ากำไรสุทธิจะเติบโต 8% ถือว่า SCG เป็นบริษัทที่ราคาหุ้นนิ่งที่สุดในกลุ่ม และในช่วง 1-2 ปีนี้ จะได้เห็นสหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้งนำบริษัทในกลุ่มเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อีก 2-3 แห่ง เป็นบริษัทที่มียอดขายตั้งแต่ 1,000 ล้านบาท ขึ้นไป อาจจะยื่นไฟลิ่งทันภายในปีนี้ "หนึ่งบริษัท" “ที่จริงแล้วราคาหุ้นบริษัทลูกเราหลายแห่งเพิ่มขึ้นมาเยอะแล้วจะขายก็ได้ แต่เราไม่คิดขาย ถ้าหากจะนำหุ้นเข้าจดทะเบียนอีกเรา (SPI) อาจจะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือเพียง 20% เท่านั้นพอ” ด้านแนวโน้มผลประกอบการ ถึงตอนนี้ผลกระทบจากยูโรโซนยังไม่มีผลต่อรายได้ของบริษัทมากนัก เพราะเน้นยอดขายในประเทศเป็นหลักมีเพียงแค่บางบริษัทที่ส่งออกรองเท้าไปยุโรปที่ได้รับผลกระทบ ส่วนในประเทศตอนนี้ถือว่าการบริโภคฟื้นตัวจากน้ำท่วมอย่างชัดเจน โดย 5 เดือนแรก สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้งมีรายได้เติบโต 5% ยอดขายที่ดินในสวนอุตสาหกรรมของบริษัททั้งที่กบินทร์บุรี ศรีราชา และลำพูนก็เพิ่มขึ้น ส่วนแนวโน้มรายได้รวมปี 2555 คาดว่าจะมีรายได้รวมเติบโต 5-10% จากปีที่แล้วที่มีรายได้รวม 3,355 ล้านบาท “มีผู้ถือหุ้นหลายคนติงมาว่า ทำไม! SPI ไม่จ่ายปันผลเพิ่มบ้างเลย (จ่ายประมาณ 1% ของราคาหุ้น) ผมอยากจะบอกว่าเราจำเป็นต้องใช้เงินซื้อที่ดินทำให้มีปันผลน้อย ถึงอย่างไรเราเป็นบริษัทที่มีทรัพย์สินเยอะโดยเฉพาะที่ดิน ราคาหุ้นก็เติบโตใครที่ถือหุ้นเรานานๆ คงมีผลตอบแทนที่ดี” สันติ กล่าว โดยไม่รับปากว่าจะจ่ายเงินปันผลเพิ่ม บุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการบริหาร บมจ.สหพัฒนพิบูล (SPC) อธิบายบทบาทที่ต่างกันของ SPC กับ ICC ว่า สหพัฒนพิบูลมีรายได้หลักจากจัดจำหน่ายสินค้าคอนซูเมอร์ราคาย่อมเยา ส่วน ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จะเน้นจัดจำหน่ายสินค้าของใช้ เช่น เสื้อผ้า และเครื่องสำอาง ในปีที่ผ่านมาถือเป็น "ปีที่ดี" ของ SPC (มีรายได้ 24,818 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 930 ล้านบาท) บริษัทจ่ายปันผล 0.90 บาทต่อหุ้น มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ส่วนหนึ่งมาจากยอดขายที่เติบโตในช่วงน้ำท่วมซึ่งบริษัทไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างไร ในแง่ต้นทุนดำเนินงานราคาน้ำมันดีเซลต่ำกว่า 30 บาทต่อลิตร ถือเป็นระดับที่เหมาะสม ส่วนการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ไม่ได้ส่งผลกระทบเช่นกัน เนื่องจากมีการใช้เครื่องจักรในสัดส่วนที่สูงกว่าแรงงานคน “บริษัทเรามีขนาดที่ใหญ่พอทำให้ห้างค้าปลีกไม่สามารถมากดดันให้เราต้องขึ้นราคาสินค้าได้ แนวโน้มในปีนี้ถ้าน้ำไม่ท่วมและการเมืองนิ่งรับรองว่า "ดีแน่นอน" คาดว่ารายได้รวมน่าจะเติบโตได้ 15% ถ้าดู 8 ปีย้อนหลังรายได้เราเติบโต 10-20% มาโดยตลอด” บุญชัย กล่าว ด้านบริษัทในกลุ่มอย่าง บมจ.ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ (TF) ซึ่งเป็นหุ้นที่ราคาสูงที่สุดในกลุ่ม บุญชัย กล่าวว่า ปีนี้สามารถคุมต้นทุนได้เพราะน้ำมันปาล์มปรับลดลงทำให้ปีนี้ คงไม่จำเป็นต้องขึ้นราคาสินค้า ช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ยังมีมาร์จินดีกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 10% ปัจจุบันมีกำลังผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 6 ล้านซองต่อวัน คิดเป็นกำลังผลิต 70-80% ล่าสุดได้เพิ่มไลน์การผลิตทำให้สามารถผลิตเพิ่มได้เป็นวันละ 7 ล้านซอง รองรับในกรณีที่เกิดวิกฤติได้ นอกจากนี้ยังมีการผลิตในต่างประเทศที่พม่าและลาวตั้งแต่ 7-8 ปีที่แล้ว มีรายได้ 50-60 ล้านบาทต่อเดือน ตอนนี้กำลังมองตลาดใหม่ที่แอฟริกาและบังกลาเทศ คาดว่าจะมีการเซ็น MOU เร็วๆ นี้ “คาดว่ารายได้รวมของ TF ในปีนี้ จะเติบโต 10% และมาร์จินดีกว่าเดิม ส่วนยอดขายในพม่าน่าจะเติบโตได้ 20% และที่ลาวโต 10%” ส่วน บมจ.เพรซิเดนท์ เบเกอรี่ (PB) ผู้ผลิตขนมปังยี่ห้อ "ฟาร์มเฮ้าส์" ถือเป็นบริษัทที่ราคาหุ้นเติบโตมากที่สุดในปีที่ผ่านมา จากราคา 28 บาท มาเป็น 50 บาท เพิ่งจะเปิดไลน์การผลิตใหม่ที่นิคมอุตสาหกรรมบางชันเพื่อผลิตขนมปังปอนด์ โดยปีนี้มีแผนจะออกสินค้าใหม่อีก 5-6 รายการ รวมเป็น 12 รายการใหม่ในปีนี้ กำลังผลิตในปัจจุบันใช้อยู่ที่ 80% คาดว่าจะรองรับยอดขายได้ภายใน 2-3 ปีข้างหน้า "ภาพรวมการแข่งขันในธุรกิจแบรนด์ฟาร์มเฮ้าส์ ยังคงเป็นผู้นำในตลาดเช่นเดิม เป้ารายได้ปีนี้ คาดว่า PB จะมีรายได้รวมเติบโตได้ 13% เรื่องสภาพคล่องซื้อขายที่ค่อนข้างต่ำ ต้องยอมรับว่าคนที่ถือหุ้นอยู่ไม่ยอมขายก็ลำบาก ขนาดเราลดพาร์จาก 10 บาท เหลือ 1 บาทแล้วยังช่วยไม่ค่อยได้” บุญชัย กล่าว บุญเกียรติ โชควัฒนา ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล (ICC) กล่าวว่า ปีนี้ ไอ.ซี.ซี.ยังคงเป็นปีที่มีอัตราการเติบโตดีกว่าปีที่แล้ว น่าจะมีรายได้รวมเพิ่มขึ้น 12% แม้ว่าจะมีปัจจัยเรื่องการแข่งขันจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) อาจมีคู่แข่งต่างชาติเข้ามา เรายังเชื่อว่าแบรนด์ที่เข้มแข็งในกลุ่มอย่าง วาโก้, BSC, LACOSTE ยังคงได้รับการตอบรับจากลูกค้าคนไทยอยู่ และมาร์จินไม่น่าได้รับผลกระทบมากนัก เซียน! ชี้สภาพคล่องต่ำ 'จุดอ่อน' หุ้นเครือสหพัฒน์ เซียนหุ้นร้อยล้าน กิติชัย เตชะงามเลิศ เล่าให้กรุงเทพธุรกิจ BizWeek ฟังว่า ในอดีตสมัยเริ่มต้นลงทุนหุ้นใหม่ๆ หุ้นกลุ่มสหพัฒน์ ถือเป็นกลุ่มที่ชื่นชอบเป็นพิเศษ แม้ว่าปัญหา “ขาดสภาพคล่อง” จะมีมาตั้งแต่สมัยก่อนนานแล้วก็ตาม เพราะเป็นบริษัทที่มียอดขายและกำไรเติบโตต่อเนื่องทุกปี ส่วนตัวเคยลงทุนทั้งหุ้น TF, WACOAL, ICC, OCC และ S & J ทั้งหมดล้วนแต่มีสินค้าที่เป็นผู้นำตลาดทั้งสิ้น ปัจจุบันธุรกิจของกลุ่มสหพัฒน์ยังคงความเข้มแข็งมาตลอด แม้กลุ่มสหพัฒน์จะยึดแนวทางแบบคอนเซอร์เวทีฟ แต่ไฮไลต์สำคัญของหุ้นกลุ่มนี้หลายๆ บริษัทเริ่มย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่มีค่าแรงถูก เช่น ธุรกิจสิ่งทอ และรองเท้า อย่าง บมจ.แพนเอเซีย ฟุตแวร์ (PAF) ที่กำลังย้ายฐานการผลิตไปกัมพูชา รวมถึง บมจ.สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง (SPI) ที่กำลังไปสร้างนิคมอุตสาหกรรมที่พม่า จึงคาดว่าแนวโน้มรายได้ยังเติบโตอยู่ “ถึงหุ้นในกลุ่มนี้ปัจจัยพื้นฐานดี มีการเติบโต แต่ปัญหาสภาพคล่องการซื้อขายต่ำยังไม่สามารถแก้ไขได้ ทำให้หุ้นกลุ่มสหพัฒน์ถูกนักลงทุนส่วนใหญ่ "มองข้าม" ไปอย่างน่าเสียดาย” เซียนหุ้นร้อยล้าน กล่าวแสดงความเห็น
No comments:
Post a Comment