Saturday, August 4, 2012

หุ้น 6 ประเภทของปีเตอร์ ลินซ์ -- by Doctor K.


ปีเตอร์ ลินซ์ อดีตผู้จัดการกองทุนแม็คเจลลัน นักลง VI มือฉมังคนนึงของวงการ ได้แบ่งชนิดของหุ้นออกเป็น 6 ประเภท ซึ่งแต่ละประเภทมีลักษณะเด่นเฉพาะแตกต่างกันออกไปดังนี้
1. หุ้นโตช้า (Slow growers) เป็นหุ้นที่มีขนาดใหญ่ การเติบโตของกำไรจะสูงกว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเล็กน้อย ประมาณ 2-4% ต่อปี ราคาหุ้นไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น แต่มีปันผลดีและสม่ำเสมอ เพราะไม่รู้ว่าจะเอาเงินไปใช้ในการขยายธุรกิจได้อย่างไร เขาไม่ค่อยชอบลงทุนในหุ้นประเภทนี้มากนักเพราะดูเชื่องช้า อุ้ยอ้าย เนื่องจากเป็นบริษัทขนาดใหญ่
2. หุ้นแข็งแกร่ง (Stalwarts) บริษัทระดับพันล้าน ที่มีอัตราการเติบโตประมาณ 10-20% ต่อปี ซึ่งเขาจะมีหุ้นประเภทนี้เก็บไว้ในพอร์ตเสมอ เนื่องจากหุ้นแข็งแกร่งจะปกป้องเขาจากช่วงเศรษฐกิจถดถอย 
3. หุ้นโตเร็ว (Fast growers) บริษัทเล็ก ๆ ที่มีอัตราการเติบโตที่สูงมากประมาณ 20-25% ต่อปี ซึ่งเป็นหุ้นประเภทที่เขาชอบมากที่สุด เนื่องจากหุ้นประเภทนี้เติบโตเร็ว ถ้าคุณเลือกตัวถูก มันจะเป็นหุ้น 10 เด้ง อย่างไรก็ตาม หุ้นประเภทนี้มีความเสี่ยง เนื่องจากส่วนมากเป็นบริษัทที่เพิ่งเปิดกิจการ มีโอกาสผิดเป้าหมายได้มาก จึงควรเลือกหุ้นอย่างระวังโดยดูจากงบดุลที่ดี และมีกำไรที่เติบโตมั่นคง4. หุ้นวัฎจักร (Cyclicals) บริษัทที่กำไรขึ้นลงตามสภาวะเศรษฐกิจ  หุ้นประเภทนี้ไม่ควรถือผ่านช่วงสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ อีกทั้งหุ้นพวกนี้แฝงอยู่ในหุ้นแข็งแกร่ง จะต้องแยกให้ออก สำคัญคืออ่านจังหวะเวลา คอยสังเกตสัญญาณของวัฏจักร ซึ่งถ้าคุณอยู่ในอุตสาหกรรมนั้น ๆ คุณก็ได้เปรียบคนอื่น หากจับจังหวะถูกก็มีโอกาสจะทำกำไรได้หลายเด้ง
5. หุ้นฟื้นตัว (Turnarounds) บริษัทที่ประสบปัญหา แต่มีสัญญาณแห่งการฟื้นตัวที่ชัดเจน เป็นหุ้นที่มีโอกาสทำกำไรได้มาก
6. หุ้นทรัพย์สินมาก (Asset plays) บริษัทที่นั่งทับสินทรัพย์จำนวนมาก โดยที่นักลงทุนส่วนใหญ่มองข้าม เช่น ที่ดินที่มีอยู่อาจมีมูลค่าสูงมากหรือบริษัทมีเงินสดอยู่มาก เมื่อเทียบกับราคาหุ้น หุ้นประเภทนี้ต้องใช้ความอดทนสูงเพราะต้องถือจนกว่าตลาดหรือนักลงทุนคนอื่นจะเห็น
การแบ่งหุ้นออกเป็นประเภท ๆ นั้นจะช่วยให้คุณมองเห็นว่าคุณกำลังลงทุนกับอะไร ความเสี่ยงเป็นอย่างไร หลักการคือ เลือกหุ้นที่คุณรู้จัก คัดกรองหุ้นต่าง ๆ จากอัตราส่วนทางการเงิน จากนั้นแบ่งประเภทของหุ้น ทำการวิเคราะห์ ประเมินหามูลค่าของกิจการ แล้วจัดพอร์ตการลงทุนของคุณให้เหมาะสม
หากสนใจเพิ่มเติมสามารถหาอ่านได้เพิ่มเติ่มจากหนังสือ One Up On Wall Street ครับ
Doctor K.


ที่มา: Settrade Blog ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร


ปัญหาในการจัดกลุ่มหุ้น

การเลือกหาหุ้นลงทุนนั้น  วิธีที่ดีมากและได้ผลในทางปฏิบัติแบบหนึ่งก็คือ  การแยกแยะหุ้นออกเป็นกลุ่ม ๆ  ตามแบบของ ปีเตอร์ ลินช์ ซึ่งแยกหุ้นออกเป็น 6 กลุ่มด้วยกัน  แต่ละกลุ่มนั้น  เมื่อกำหนดได้แล้ว  เราก็สามารถตัดสินใจลงทุนได้  นอกจากนั้น  เมื่อลงทุนไปแล้ว  เราก็สามารถกำหนดเวลาหรือผลตอบแทนที่เราจะคาดหวังก่อนที่จะทำการขายหุ้นทิ้งได้  อย่างไรก็ตาม  การพิจารณาว่าหุ้นอยู่ในกลุ่มไหนนั้น  บางทีก็ไม่ใช่เรื่องง่าย  บ่อยครั้งเราอาจจะจัดผิดและทำให้การลงทุนของเราผิดพลาด  มาดูกันว่าหุ้นแต่ละกลุ่มเป็นอย่างไรและโอกาสที่จะผิดพลาดอยู่ตรงไหน

     กลุ่มแรกคือหุ้นกลุ่มโตช้า   นี่คือหุ้นที่มักอยู่ในอุตสาหกรรมที่เก่าแก่  ในอดีตอาจจะเคยเป็นอุตสาหกรรมที่โตเร็วมาก่อน  แต่ปัจจุบันกลายเป็นอุตสาหกรรมที่โตช้าและอาจจะเริ่มหดตัวลง  เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอหรือผลิตภัณฑ์การเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร  หุ้นพวกนี้จะเติบโตพอ ๆ  กับการเติบโตของเศรษฐกิจเช่นประมาณปีละไม่เกิน 5%   การพิจารณาว่าหุ้นตัวไหนเป็นกิจการหรือหุ้นที่เติบโตช้านั้นไม่ยากนัก  เพราะยอดขายมักจะเพิ่มขึ้นช้า  กำไรก็อาจจะทรง ๆ  หรือเพิ่มขึ้นไม่มากในช่วงสี่ห้าปีที่ผ่านมา  บริษัทที่โตช้าหลายบริษัทอาจจะมีฐานะทางการเงินที่ดีไม่มีหนี้สิน  มีกำไรต่อเนื่อง  มีการจ่ายปันผลที่ดี  ค่า PE และ PB อาจจะต่ำมาก เช่น PE 7 เท่าและ PB 0.7 เท่า  ในขณะที่เงินปันผลสูงทีเดียวเช่นอาจจะ 7-8 หรือ 10% ต่อปี    มองในแง่ของ Value Investor แล้ว  หุ้นแบบนี้เข้าข่ายที่จะซื้อลงทุนเพราะมีราคาถูกมาก  อย่างไรก็ตาม  ผมไม่แนะนำให้ซื้อ  เพราะในอนาคต  กำไรอาจจะถดถอยลงและราคาหุ้นก็มักจะไม่ไปไหน  ปันผลที่ได้ก็ไม่คุ้ม  โดยเฉพาะถ้ามันต้องลดลงในอนาคต

     กลุ่มที่สองคือหุ้นแข็งแกร่ง  นี่คือหุ้นขนาดใหญ่  อยู่มานาน  มีกำไรค่อนข้างสม่ำเสมอ  และมีการเติบโตเหนือกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจบ้างเช่นอาจจะประมาณปีละ 7-10% โดยเฉลี่ย  เป็นกิจการที่มีความแข็งแกร่งและเป็นที่รู้จักและยอมรับถึงความยิ่งใหญ่ในสายตาของคนทั่วไปมาช้านาน  หุ้นเหล่านี้ก็เช่นหุ้นของธนาคารขนาดใหญ่ในประเทศ  หุ้นของกิจการพลังงานขนาดใหญ่ที่เป็นรัฐวิสาหกิจ  หุ้นของกิจการวัสดุก่อสร้างขนาดใหญ่ เป็นต้น  หุ้นแข็งแกร่งนั้น  จุดเด่นก็คือ  ยอดขายและกำไรมักจะไม่ผันผวนนักและเติบโตไปได้เรื่อย ๆ  อย่างไม่เร็วนัก  และสามารถทนทานต่อภาวะเศรษฐกิจได้ดีพอสมควร  ในบางครั้ง  นักลงทุนก็อาจจะเข้าใจผิดได้ว่ากิจการปิโตรเคมีขนาดใหญ่ทุกแห่งนั้นเป็นหุ้นแข็งแกร่ง  แต่จริง ๆ  แล้วมันอาจจะไม่ใช่  เพราะผลประกอบการของกิจการปิโตรเคมีจำนวนมากนั้นขึ้น ๆ  ลง  ๆ  ตามราคาของผลิตภัณฑ์ ซึ่งทำให้มันไม่ใช่หุ้นที่แข็งแกร่งแต่เป็นหุ้นวัฏจักร   ในกรณีที่เรากำหนดได้ว่าหุ้นเป็นหุ้นที่แข็งแกร่งแล้ว  เราก็ลงทุนได้  เพราะความเสี่ยงในการลงทุนจะต่ำ  แต่หุ้นในกลุ่มนี้เรามักจะหวังผลได้ไม่มากนัก ถ้าได้กำไร 30-50%  ในช่วงภายในเวลา 2-3 ปี ก็ควรพิจารณาขายได้

     กลุ่มที่สามคือหุ้นโตเร็ว  นี่คือหุ้นของกิจการที่โตเร็ว ปีละเฉลี่ย 15-20% ขึ้นไปอย่างน้อยใน 5 ปีข้างหน้า  การเติบโตนั้นโตขึ้นทั้งยอดขายและกำไรและเป็นการโตจากภายในธุรกิจเองไม่ได้โตจากการซื้อกิจการ  หรือถ้าเป็นการซื้อกิจการก็ต้องเป็นกิจการแบบเดียวกัน  หุ้นโตเร็วนั้น  เป็นหุ้นที่มักมีความเข้าใจผิดหรือจัดหุ้นผิดบ่อยนั่นคือ  นักลงทุนอาจจะจัดหุ้นวัฏจักรหรือหุ้นฟื้นตัวเป็นหุ้นโตเร็วซึ่งทำให้การวิเคราะห์และให้มูลค่าหุ้นผิดเพื้ยนจากที่ควรจะเป็น  ประเด็นสำคัญก็คือ  ถ้าเป็นหุ้นโตเร็วแล้ว  การเติบโตจะต้องเป็นทั้งรายได้  และกำไร  และเมื่อมันโตขึ้นแล้วจะต้องไม่ลดลงในอนาคต  ผมเคยเขียนไว้ว่าจะต้องเป็นการโตแบบ “สูง”  ไม่ใช่โตแบบ “อ้วน”    นอกจากนั้น  การเติบโตจะต้องไม่เป็นการ “ซื้อ” มาด้วยต้นทุนที่สูงเกินไป  นั่นหมายความว่าการโตนั้นไม่ควรจะต้องลงทุนมากเกินไป

     ถ้าเราเจอหุ้นที่โตเร็วจริง  การลงทุนซื้อหุ้นโดยเฉพาะในราคาที่ไม่แพงเกินไปเช่นที่ PE ไม่เกิน 15-20 เท่า  เราก็อาจจะได้ผลตอบแทนที่ดีมาก  และหุ้นโตเร็วนั้น  เราสามารถถือยาวเพื่อทำกำไรได้นานมากตราบที่มันยังเติบโตดีอยู่  หุ้นโตเร็วนั้น  บางทีเราลืมเรื่องการขายหุ้นไปได้เลย  และผลตอบแทนนั้นอาจจะเป็นหลายเท่าหรือหลายสิบเท่าก็เป็นได้ในเวลาหลาย ๆ  ปี

     กลุ่มที่สี่คือหุ้นวัฏจักร  นี่คือหุ้นของกิจการที่มียอดขายขึ้น ๆ  ลง  ๆ  ตามวัฏจักรของเศรษฐกิจหรือตามวัฏจักรของอุตสาหกรรม   หุ้นที่ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ส่วนใหญ่นั้นมักเป็นหุ้นวัฏจักรซึ่งทำให้หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ไทยจำนวนมากเป็นหุ้นวัฏจักร  ประเด็นก็คือ  ทั้งยอดขายและกำไรของหุ้นมักจะไม่แน่นอน  ในช่วง  “ขาขึ้น”  ยอดขายและกำไร ก็จะปรับตัวขึ้น  บางทีหลายปีจนทำให้เรานึกไปว่าเป็นหุ้นโตเร็ว  แต่ในช่วง “ขาลง”  ยอดขายและกำไรก็ลดลง  บางครั้งถ้าเราดูตัวเลขยอดขายและกำไรย้อนหลังไปยาวเป็น 10 ปีหรือมากกว่านั้น   ก็อาจจะเห็น  “วัฏจักร” ที่ชัดเจนขึ้น   หุ้นบริษัทขายบ้านและคอนโดมิเนียมหลายบริษัทนั้น  นักลงทุนอาจจะวิเคราะห์และสรุปว่าเป็นหุ้นโตเร็วเพราะยอดขายและกำไรอาจจะโตอย่างโดดเด่นมา 4-5 ปี  แต่ถ้าถามว่าอีก 5 ปีข้างหน้าบริษัทนั้นจะยังมียอดขายและกำไรเพิ่มขึ้นหรือใกล้เคียงกับปัจจุบันไหม?  ผมเองก็ไม่แน่ใจ  โอกาสเป็นไปได้ว่ายอดขายและกำไรน้อยกว่านั้นเพราะการขายบ้านและคอนโดนั้นต้อง “เริ่มต้นใหม่”  กับ “ลูกค้ารายใหม่” ทุกปี  ซึ่งผมรู้สึกว่ามีความไม่แน่นอนสูง  ดังนั้น  สำหรับผมจะไม่จัดให้บริษัทในกลุ่มนี้เป็นหุ้นโตเร็ว

     หุ้นวัฏจักรนั้น  เนื่องจากการโตขึ้นของกำไรไม่แน่นอนและอาจจะตกกลับลงไปอีกในอนาคต  ดังนั้น  ความเสี่ยงจึงสูงและการกำหนดค่า PE ที่เหมาะสมสำหรับการลงทุนก็ทำได้ยาก  ว่าที่จริง ปีเตอร์ ลินช์ บอกว่าเราควรซื้อในยามที่ PE สูงและขายตอนที่ PE ต่ำ  การเข้าซื้อหุ้นในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่แล้วควรมองไปที่วัฏจักรมากกว่าตัวเลขความถูกความแพงของหุ้น  และถ้าเรารู้ว่ากำลังเป็นขาขึ้น  การลงทุนก็มักจะทำกำไรให้เรามหาศาล  บางทียิ่งกว่าหุ้นโตเร็ว  อย่างไรก็ตาม  วันหนึ่งหุ้นจะลง  ดังนั้น  เราจะต้องขายหุ้นก่อนที่วัฏจักรจะเริ่มเปลี่ยนเป็นขาลง

     กลุ่มที่ห้าคือหุ้นฟื้นตัว  นี่คือหุ้นที่ใกล้จะ  “เจ๊ง”  หรือ  เจ๊งแล้วกำลังจะ “ปรับโครงสร้าง” ได้สำเร็จ  หุ้นฟื้นตัวนั้น  มีความเสี่ยงว่าถ้าไม่ฟื้น  การลงทุนก็เป็น “หายนะ”  การเล่นหุ้นฟื้นตัวนั้นจะต้องวิเคราะห์ให้ออกว่ามีคนต้องการฟื้นบริษัทจริงและเขามีศักยภาพที่จะทำ  ถ้าสำเร็จ  ผลตอบแทนก็มักจะสูงลิ่ว

     กลุ่มสุดท้ายก็คือ  หุ้นทรัพย์สินมาก  นี่คือหุ้นที่มีทรัพย์สินโดยเฉพาะที่เป็นอสังหาริมทรัพย์และ/หรือหุ้นจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มาก  และมูลค่าตลาดเมื่อหักหนี้แล้ว  สูงกว่ามูลค่าตลาดของหุ้นทั้งหมดของบริษัท  ดังนั้น  ในทางทฤษฎีแล้ว  ถ้าเราซื้อหุ้นทั้งหมดเป็นเจ้าของคนเดียวแล้วตัดทรัพย์สินไปขาย  เราก็จะได้กำไรอย่างงดงาม  แต่ในความเป็นจริงเราทำไม่ได้  การลงทุนในหุ้นทรัพย์สินมากนั้น  โอกาสที่จะ “ปลดปล่อย” มูลค่าของทรัพย์สินมีน้อย  ดังนั้น  สำหรับผมแล้ว  หุ้นเหล่านี้ส่วนมากไม่น่าสนใจ  ยกเว้นว่าจะมีปัจจัยประกอบอย่างอื่น


No comments:

Post a Comment