Tuesday, October 9, 2012

เดจาวู ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร



Monday, 8 October 2012

เดจาวู

« Hunger Game เกมล่าหุ้น | Main
ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ที่ปรับตัวขึ้นมากนับจากต้นปีที่ 1025 จุด กลายเป็น 1311 จุดเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2555 หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 28%  นั้น  ต้องถือว่าเป็นการเพิ่มขึ้นมาก  เพราะถ้านับจากปี 2540 ซึ่งเป็นปีวิกฤติเศรษฐกิจจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 16 ปี  นั้น  มีเพียง  4 ปีเท่านั้นที่ดัชนีตลาดปรับขึ้นมาสูงกว่านี้  และนี่ทำให้คนจำนวนไม่น้อย   โดยเฉพาะที่เป็น VI มีความรู้สึกว่าตลาดหุ้นอาจจะมีราคาที่แพงเกินพื้นฐาน   และมีโอกาสที่จะปรับตัวลงแรงได้ เหนือสิ่งอื่นใด  ค่า PE ของตลาดหลักทรัพย์นั้นสูงลิ่วถึง 18 เท่า  นอกจากนั้น  ยุโรปและโลกเองก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังซบเซาลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ส่วนตัวผมเองนั้น ก็บอกไม่ได้เหมือนกันว่าตลาดจะปรับตัวลงแรงไหมในระยะเวลาอันใกล้  แต่โดยความสัตย์จริง ผมเองก็กลัว ๆ  อยู่เหมือนกัน  เพราะลึก ๆ  แล้ว  ผมมีอาการบางอย่างที่ฝรั่งเรียกว่า De’Ja’vu  นั่นก็คือ  เกิดภาพหลอนจากความรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่เคยพบมาก่อน  เป็นสิ่งที่ฝังใจจากประสบการณ์ที่ผ่านมาในช่วงก่อนวิกฤติเศรษฐกิจที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยแทบจะล่มสลาย  มาดูว่าอะไรที่ทำให้ผมรู้สึกอย่างนั้น
           ปรากฏการณ์แรกเลยที่ทำให้ผมนึกแบบนั้นก็คือ  เรื่องของหุ้น IPO   นั่นก็คือ  ในช่วงที่หุ้นบูมแรงเป็นกระทิงก่อนปี 2540 นั้น  มีหุ้นที่เข้าจดทะเบียนในตลาดมากเป็นพิเศษ   แน่นอน หุ้นส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดเล็กที่ไม่ได้มีจุดเด่นอะไรนักและมักจะมีผลประกอบการที่กระท่อนกระแท่นจนถึงปีที่จะเข้าตลาดที่ผลงานจะ  “ก้าวกระโดด”  และมี  “อนาคต”  ที่สดใส   แต่หุ้น IPO  เหล่านั้น  เมื่อเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ในวันแรก   ราคาของมันก็ปรับตัวขึ้นมหาศาล  ส่วนใหญ่ก็หลายสิบเปอร์เซ็นต์  บางบริษัทก็ปรับขึ้นหลายร้อยเปอร์เซ็นต์  ยิ่งไปกว่านั้น  ปริมาณการซื้อขายหุ้นก็สูงมาก  ส่วนใหญ่สูงกว่าจำนวนหุ้นที่ขายให้กับประชาชนทั้งหมด  หุ้น  IPO  เป็นสิ่งที่ทุกคนอยากได้โดยที่ไม่ได้สนใจว่าบริษัททำอะไรและขายหุ้นในราคาเท่าไร  อาการแบบนี้กำลังเกิดขึ้นในช่วงเวลานี้   และนี่ก็คือสัญญาณแรกที่บอกว่าตลาดหุ้นกำลังร้อนแรงเกินกว่าปกติ
           เรื่องที่สองก็คือ  การเทคโอเวอร์กิจการอื่นของบริษัทจดทะเบียน   ในช่วงก่อนวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 นั้น  บริษัทในตลาดหุ้นที่   “ก้าวหน้าและก้าวร้าว”  หลายกลุ่ม   ใช้กลยุทธ์การซื้อกิจการอื่นทั้งในและนอกตลาดหลักทรัพย์จำนวนมากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มของตน ซึ่งทำให้ขนาดของกิจการโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด  กิจการส่วนใหญ่อาจจะอยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน   แต่บางทีก็เทคโอเวอร์บริษัทที่เพียงแต่มีส่วนเกี่ยวข้อง   หรือบางครั้งก็อาจจะแตกต่างกันไปเลยก็มีแม้ว่าจะมีจำนวนไม่มากนัก
           ทุกครั้งที่มีการประกาศเทคโอเวอร์   ราคาหุ้นก็ดีดตัวขึ้นมารับข่าว   ตลาดเชื่อว่าการเทคโอเวอร์จะทำให้กำไรของบริษัทเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว   ตลาดเชื่อว่าคนที่เทคโอเวอร์นั้นมีศักยภาพที่โดดเด่น   การเทคโอเวอร์นั้นไม่กระทบฐานะทางการเงินมากนัก   เหตุผลก็เพราะหนี้ที่เพิ่มขึ้นนั้น  “ไม่มากเกินไป”   บางบริษัทที่เทคโอเวอร์เองก็ไม่ได้ใช้เงินสด   แต่เป็นการ  “แลกหุ้น”  กัน   นั่นก็คือ  บริษัทออกหุ้นใหม่เอาไปให้กับผู้ถือหุ้นของบริษัทที่ถูกเทค  หุ้นที่ออกใหม่นี้มีราคาขึ้นไปอีก  ดังนั้นทุกฝ่ายได้ประโยชน์  การเทคโอเวอร์จึงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ   ซักระยะหนึ่งเราก็มี   Takeover King หรือ  “ราชันย์นักเทคโอเวอร์”  ที่สร้างกลุ่มบริษัทที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ อย่างรวดเร็วและดูเหมือนว่าจะไม่มีอะไรมาหยุดได้   ในขณะนี้   แม้ว่าเราจะยังไม่ถึงจุดนั้น   แต่สัญญาณกระแสการเทคโอเวอร์ก็เริ่มมาและเร่งตัวขึ้นอย่างน่าจับตามอง
          เรื่องที่สามซึ่งก็น่าจะเกี่ยวกับสองข้อแรกก็คือ  ในช่วงก่อนปีวิกฤตินั้น   ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของไทยยังอยู่ในระดับที่ดีใช้ได้   การเติบโตยังอยู่ในระดับ 5-6%  แต่การส่งออกของประเทศก็เริ่มชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด  เหตุผลในขณะนั้นน่าจะอยู่ที่ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นบ้างหรือไม่ผมก็ไม่แน่ใจ   แต่สิ่งที่ค่อนข้างมั่นใจก็คือ  สินค้าไทยแข่งขันไม่ค่อยได้   นอกจากนั้นเรายังมีการนำเข้ามหาศาลเพื่อ  “ลงทุน”  ในเครื่องจักรอุตสาหกรรมที่มีการแข่งกันขยายโรงงานกันมากมาย  ทำให้ไทยขาดดุลการค้าค่อนข้างมาก   อย่างไรก็ตาม   นักเศรษฐศาสตร์ต่างก็พูดกันว่าคงไม่มีปัญหา   เพราะการขาดดุลไม่ใช่เกิดขึ้นจากการซื้อสินค้ามาบริโภค  แต่เป็นการนำเข้าสินค้าทุนที่จะทำให้เกิดการขยายตัวของการผลิตเพื่อส่งออกที่จะทำให้ดุลการค้าของเราดีขึ้นในอนาคต  พูดง่าย ๆ  ดูไปแล้วเศรษฐกิจของไทยยังแข็งแกร่ง  ไม่มีอะไรน่ากลัว
          มองในภาวะปัจจุบัน    ตัวเลขการเติบโตของการส่งออกของเราก็ดูเหมือนว่าจะลดลงมากจากที่ประมาณการไว้เมื่อตอนต้นปี  ภาวะความถดถอยของเศรษฐกิจโดยเฉพาะในยุโรปก็ยังมีโอกาสที่จะกลายเป็นวิกฤติได้อีก   อย่างไรก็ตาม  ครั้งนี้เราก็ยังมีข้อ  “ปลอบใจ”  ตัวเองว่า   เศรษฐกิจภายในของเราน่าจะดีเนื่องจากเรามีการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำขึ้นมาอย่าง  “มโหฬาร” ที่จะทำให้การบริโภคภายในประเทศคึกคัก  นอกจากนั้น  การใช้จ่ายของภาครัฐที่มีการทุ่มเงินมหาศาลในการลงทุนโดยเฉพาะในสาธารณูปโภคซึ่งรวมถึงการป้องกันน้ำท่วมและการคมนาคม น่าจะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยอยู่ในขั้นดีแม้ว่าภาคการส่งออกจะย่ำแย่
           พูดมาถึงจุดนี้อาจจะทำให้เกิดความรู้สึกว่าตลาดหุ้นไทยในขณะนี้น่ากลัวพอสมควรในแง่ของตลาดหุ้น  เพราะเรารู้ว่าตลาดหุ้นในช่วงก่อนวิกฤติปี 2540 นั้น  หลังจากที่ขึ้นไปสูงลิ่วแล้วก็ปรับตัวลดลงต่อเนื่องจนถึงวิกฤติในที่สุด   แต่สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นว่าจะเป็น  “ตัวช่วย”  ที่จะทำให้เราสามารถหลีกเลี่ยงความเลวร้ายทางเศรษฐกิจและตลาดหุ้นในครั้งนี้ได้ก็คือ   เรื่องของฐานะทางการเงินของบริษัทต่าง ๆ  รวมถึงบุคคลธรรมดาที่มีเงินและเป็นผู้เล่นในตลาดหุ้นในขณะนี้   นั่นก็คือ  ในช่วงก่อนวิกฤตินั้น   บริษัทต่าง ๆ  โดยเฉพาะที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นต่างก็มีหนี้สินมหาศาลอันเป็นผลจากการขยายงานที่ “เกินตัว”  ไปมากเนื่องจากคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะดีและความต้องการของสินค้าจะเพิ่มขึ้นมากซึ่งทำให้เมื่อเกิดปัญหาบริษัทต่างก็แทบเอาตัวไม่รอด   ในขณะที่ในปัจจุบัน  ฐานะทางการเงินของบริษัทส่วนใหญ่ค่อนข้างเข้มแข็งและต่างก็ป้องกันความเสี่ยงจากเรื่องของค่าเงินที่อาจจะเป็นอันตรายได้
          ในส่วนของนักลงทุนในตลาดหุ้นเองนั้น  ในช่วงก่อนวิกฤติ  พวกเขามักเป็นนักธุรกิจผู้ประกอบการขนาดย่อม   หรือไม่ก็เป็นคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมการเงินที่มีอยู่ไม่มากนัก  ส่วนกลุ่มที่เป็นนักลงทุนสถาบันในประเทศเองก็ยังมีอยู่ไม่มาก   ดังนั้น  เมื่อเกิดวิกฤติ  พวกเขาก็มีปัญหาทางการเงินและต่างก็ต้องถอนตัวออกจากตลาดหุ้น   แรงซื้อนั้นแทบไม่มี  มีแต่แรงขาย ดังนั้น  หุ้นจึงตกลงมาแรงและซบเซาไปนาน  ในขณะที่ในปัจจุบันนั้น   ดูเหมือนว่าเราจะมีนักลงทุนที่  “มีเงินและไม่มีหนี้”  อยู่เป็นจำนวนมากทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดาและนักลงทุนสถาบัน และมากขึ้นเรื่อย ๆ    เม็ดเงินของพวกเขาพร้อมที่จะเข้ามา  “ช้อนหุ้น”  ทุกครั้งที่หุ้นมีการปรับตัวลง  พูดง่าย ๆ  ตลาดหุ้นเราไม่  “เปราะบาง” เหมือนในช่วงก่อนวิกฤติเศรษฐกิจ   ดังนั้น  “เดจาวู”  ของผมก็อาจจะเป็นแค่  “ภาพหลอน” ที่ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด

No comments:

Post a Comment