เซียนหุ้นพอร์ตใหญ่ 'เลข 9 หลัก' ฉัตรชัย วงแก้วเจริญ ชื่อชั้นระดับ 'ยอดฝีมือ' ในวงการตลาดหุ้น ใครๆ ก็ยกให้เขาเป็น 'หมองบการเงิน'...คนนี้แหละ!! ที่วงการ 'วีไอ' ยกให้เป็น 'นักถอดงบการเงิน' เก่งโครตๆ
ธุรกิจ : BizWeek
วันที่ 9 ตุลาคม 2555 01:00
'ฉัตรชัย วงแก้วเจริญ' นักถอดงบการเงิน 'ผู้ปราดเปรื่อง'
“ไก่” ธันวา เลาหศิริวงศ์ นายกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่าประเทศไทย คอนเฟิร์มว่า ฉัตรชัยเก่งเรื่องเจาะลึกงบการเงิน ที่ผ่านมาเขาเคยตั้งกระทู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ มีคนเข้ามาดูเยอะมาก ทางสมาคมฯ จะเปิดให้เขามาสอนสมาชิกเร็วๆ นี้..ปัจจุบัน ฉัตรชัย เจ้าของนามแฝง CHATCHAI ในเว็บไซต์ "ไทยวีไอ" มีบทบาทเป็น เลขานุการสมาคมฯ นิสัยเป็นคนเที่ยงตรง จะคอยดูแลข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อนักลงทุนในวงการวีไอร่ำลือว่า “ฉัตร”ฉัตรชัย วงแก้วเจริญ เซียนหุ้นวีไอรายนี้พอร์ตลงทุนใหญ่ ตัวเลขน่าจะไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท คำบอกเล่าของสาวกวีไอบางคนระบุว่า ฉัตรชัยชอบให้ความรู้ผู้อื่น ทำหนังสือสอนวิธีแกะงบการเงินแจกคนใกล้ชิด ใครอยากถอดงบการเงินคล่องๆ ต้องไปหาเขา
ชายผิวขาววัย 44 ปีรายนี้ มีนัดหมายกับกรุงเทพธุรกิจ BizWeek เวลา 10 โมงตรง ณ ร้านกาแฟ เซ็ทเทรด ดอท คอม เขาส่งยิ้มทักทายอย่างเป็นมิตร พร้อมนั่งลงตอบคำถาม “พี่ฉัตรมีพอร์ตลงทุนใหญ่ 500 ล้านบาท อย่างเขาว่ากันรึเปล่า!!!” เจ้าตัวหัวเราะ ก่อนตอบว่า “ใครบอกไม่ถึง..มั่วล่ะ!! ผิดคนรึเปล่า! พอร์ตผมก็แค่เกือบแตะ 9 หลักเท่านั้น”
ฉัตรชัย ย้อนประวัติชีวิตวัยเด็กก่อนมาเป็น “เซียนหุ้นรายใหญ่” ให้ฟัง..ตั้งแต่จำความได้ก็วิ่งเล่นอยู่แถวย่านวรจักร ซึ่งเป็นทั้งที่อยู่อาศัยและแหล่งทำมาหากินของครอบครัว คุณพ่อท่านเป็นคนจีนโบราณ มักเปลี่ยนงานไปเรื่อยๆ ตามโอกาสและสถานการณ์ ท่านเคยทำร้านทอง ร้านตัดผม ปั๊มน้ำมัน ตอนนี้ไม่ได้อาศัยอยู่ที่นั่นแล้วย้ายออกมาอยู่กับภรรยาและลูกสาว 2 คน (คนโตอายุ 13 ปี คนเล็กอายุ 11 ปี) แถวนั้นน้ำท่วมถึงหน้าแข้ง (หัวเราะ) ต้องพากันอพยพมาอยู่คอนโดมิเนียมแถวพญาไท
"ผมไม่ชอบท่องจำ แต่รักการคำนวณตัวเลขเป็นชีวิตจิตใจ จึงตัดสินใจปูพื้นฐานตัวเองด้วยการเลือกเรียนสายวิทย์-คณิต โรงเรียนเซนต์คาเบรียล ผมเรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย จากนั้นก็เข้าเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อยู่รุ่น 70 มีเพื่อนร่วมรุ่นเป็น “เอ็มดี” คนปัจจุบันของ บมจ.เอ็ม เอฟ อี ซี (MFEC) เขาเรียนอยู่แผนกคอมพิวเตอร์ หลังเรียนจบไม่นานก็ไปศึกษาต่อปริญญาโท หลักสูตรบริหารธุรกิจ (MBA) ภาคค่ำ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะเริ่มอยากรู้เรื่องเกี่ยวกับการเงิน ตอนนั้นผมเริ่มสนใจการลงทุนแล้ว แต่เดี๋ยวจะเล่าให้ฟัง ทำไมถึงสนใจตลาดหุ้น”
ในช่วงที่เรียนปริญญาตรีปี 2 ฉัตรชัย เริ่มรู้สึกตัวว่าแท้จริงแล้วไม่ได้อยากเรียนวิศวะ แต่รักที่จะเรียนเกี่ยวกับธรุกิจและบัญชีมากกว่า เพราะช่วงนั้นชอบอ่านหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับธุรกิจ โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เคยคิดจะย้ายคณะแต่ด้วยความเสียดายเวลา ทำให้หันมาเลือกเรียนวิชาอุตสาหการ ซึ่งจะเรียนเกี่ยวกับการบริหารโรงงานแทน พอเรียนจบปริญญาตรีตอนปี 2533 ก็ไปทำงานเกี่ยวกับผู้เชี่ยวชาญระบบคอมพิวเตอร์ใน บมจ.เมโทรซิสเต็มส์คอร์ปอเรชั่น (MSC) อยู่ตึกไอบีเอ็ม เงินเดือน 7,000-8,000 บาท เขียนใบสมัครงานไว้ตั้งแต่เรียนอยู่ปี 4 เพราะคุณอารู้จักกับผู้บริหาร MSC เขาบอกว่า บริษัทกำลังรับสมัครฝ่ายวิศวกรรม ท่านก็มาชวนผม (เมื่อก่อนคุณอาทำงานอยู่ใน บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี (TCCC) ซึ่งอยู่ตึกเดียวกับ MSC)
จุดเริ่มต้นที่ทำให้อยากลงทุนในตลาดหุ้นนั้น ย้อนกลับไปตอนปี 2533 เขาอ่านหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ สมัยนั้นจะมีคอลัมน์ที่นำหนังสือของ “ปีเตอร์ ลินซ์” มาแปล (ฉบับแปลและเรียบเรียงโดยสุทธิชัย หยุ่น) ลงอาทิตย์ละตอน ซึ่งเขาติดตามอ่านตลอด รู้สึกว่ามีเหตุมีผล พอมีการรวมเป็นเล่มก็ไปซื้อ เมื่ออ่านไปเรื่อยๆ ก็เริ่มรู้สึกว่า “เออ!..เรื่องนี้มันถูกกับเรา”
หลังจากศึกษาการลงทุนอยู่ไม่นาน ก็ตัดสินใจนำเงินเก็บประมาณ 20,000 บาท มาเล่นหุ้นในพอร์ตของคนรู้จัก ตอนนั้นยังไม่สามารถเปิดพอร์ตเป็นของตัวเองได้เพราะการเปิดบัญชียุ่งยาก เขาบอกว่า หุ้น ยูนิคอร์ด (UCT) ทำธุรกิจปลาทูน่ากระป๋องส่งออก เป็นหุ้นตัวแรกที่ตัดสินใจซื้อ ได้มาประมาณ 200 หุ้น ราคาหุ้นละ 118 บาท หุ้น UCT ล้มละลายไปแล้ว หลังเจ้าของบริษัท ดำริห์ ก่อนันทเกียรติ ยิงตัวตาย เมื่อปี 2538 เพราะเจอมรสุมหนี้ 7,000 ล้านบาท
"ถามว่าทำไมตอนนั้นเลือก “จิ้ม” หุ้น UCT เล่าไปแล้วก็ขำตัวเอง บังเอิญว่าเจ้าของเขาเป็นศิษย์เก่าวิศวะ ซึ่งผมไม่ได้รู้จักเขา แต่ตอนนั้นทางคณะพานักศึกษาไปเยี่ยมชมโรงงานของเขา ช่วงนั้น UCT เขาดังเป็นพุลแตก เพราะเป็นบริษัทไทยแห่งแรกที่เข้าไปเทคโอเวอร์บริษัทยักษ์ใหญ่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นเคสที่ดังมาก ทำให้ผมคิดว่าเจ้าของบริษัทนี้ท่าจะเก่ง ดูยิ่งใหญ่ อนาคตสงสัยจะดี (หัวเราะ)"
ฉัตรชัย บอกตรงๆ ตอนโน้นซื้อหุ้นไม่เคยดูงบการเงิน ยิ่ง P/E แทบไม่ได้สนใจ เพราะเมื่อก่อนตลาดหุ้นยังเป็นระบบเคาะกระดาน ระบบอินเตอร์เน็ตยังไม่มีใช้ ทำให้การหาข้อมูลทำได้ยากมาก ถ้านักลงทุนอยากได้ข้อมูลงบการเงินต้องไปเสียเงินขอก็อปข้อมูลใส่แผ่นดิกส์ที่ตลาดหลักทรัพย์ หรือหากอยากฟังราคาหุ้นต้องรอฟังในรายการวิทยุระบบ AM ซึ่งเขาจะรายงานราคาหุ้นทุกครึ่งชั่วโมง หากพลาดต้องรอฟังอีกครึ่งชั่วโมงต่อไป ยิ่งใครอยากได้หุ้นแล้วโทรไปสั่งซื้อกับมาร์เก็ตติ้ง ไม่ได้หมายความว่าคุณได้แล้วนะ ต้องรอตลาดหุ้นปิดแล้วเขาจะโทรมาบอกว่าที่สั่งไปเนี่ยได้รึเปล่า
"เล่นหุ้นสมัยก่อนเข้าถึงข้อมูลยากจริงๆ ขนาดเข้าสู่ยุคโทรศัพท์มือถือ และเพจเจอร์ ก็ใช่ว่าจะง่าย คุณต้องเสียค่าใช้จ่ายเดือนละ 1,500 บาท เพื่อให้เขารายงานหุ้นผ่านเพจเจอร์ ราคาเครื่องก็ปาเข้าไปเป็นหมื่นบาท ยิ่งใครอยากได้บทวิเคราะห์ยิ่งยากเข้าไปใหญ่ คุณต้องเป็นนักลงทุนรายใหญ่เท่านั้นถึงจะได้อ่าน"
เขายอมรับอย่าง “ไม่อาย” ว่า ผลการลงทุนในช่วง 2-3 เดือนแรกออกแนว “เจ๊ง” (หัวเราะ) เพราะเจอเหตุการณ์สงครามอ่าวเปอร์เซียเล่นงาน ดัชนีและราคาหุ้นล่วงกว่า 30% ยิ่งราคาหุ้น UCT ยิ่งแย่ “หล่นตุ๊บ” จาก 118 บาท เหลือเพียง 10 กว่าบาท ภายในระยะเวลาไม่นานมาก แต่เขาก็ไม่รู้สึก “เข็ด” เพราะยังลงทุนน้อย ตรงข้ามกลับมองว่าหุ้นมันตกทั้งตลาด ทุกคนก็โดนเหมือนกันหมด หุ้นตกเดี๋ยวมันก็ขึ้น
เมื่อตลาดหุ้นย่ำแย่ ก็เลยหันไปซื้อๆขายๆ หุ้นแบงก์ ไฟแนนซ์ เรียกว่าเล่นตามกระแสข่าวรายวัน ผลออกมา ก็มีทั้ง “ขาดทุน กำไร เสมอตัว” เล่นหุ้นแบบตามสตอรี่ได้ 3-4 ปี ก็เริ่มรู้สึกตัวว่า ไม่เห็นได้อะไรจากการเล่นหุ้นลักษณะนี้
"ผมจึงตัดสินใจลาออกจากงานใน MSC เพื่อมาเรียนต่อปริญญาโทตอนปี 2537 ด้วยความหวังว่า อยากรู้เรื่องเกี่ยวการเงิน บัญชี แบบให้ถูกสเตป เพราะซื้อหนังสือมาอ่านเองมันไม่เข้าใจ ปะติดปะต่อเรื่องราวไม่ได้ มันขาดความมั่นใจ เมื่อเรียนปริญญาโทปี 2 ก็มีโอกาสได้เรียนวิชาเศรษฐศาสตร์มหภาค ทำให้เข้าใจถึงปัญหาค่าเงินบาท ตอนนั้นเริ่มรู้แล้วว่า ประเทศกำลังจะเจอปัญหาหนัก จึงตัดสินใจล้างพอร์ตได้เงินกลับมาหลักแสนบาท"
หลายคนคงคิดว่า เงินก้อนนั้นเป็น “กำไร” ที่ได้จากการลงทุนล้วนๆ แต่เปล่าครับ!..เขาบอก มันเป็นเงินที่เติมไปเรื่อยๆ โชคดีมากที่ขายหุ้นออกหมด แม้จะไม่ได้กำไรมากมาย แต่ก็ได้ประสบการณ์กลับมาเพียบ!! ในระหว่างที่เรียนปริญญาโท ก็มีโอกาสใช้ช่วงเวลาสั้นๆประมาณ 1 ปีกว่า ไปทำงานในเครือของผู้จัดการเกี่ยวกับการขายระบบข้อมูล พอเขาเปลี่ยนผู้บริหารก็ลาออกไปทำงานตำแหน่งเจ้าหน้าที่สินเชื่อ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา สำนักงานใหญ่ เพราะหัวหน้าเก่าแนะนำ ทำงานแบงก์ได้ 4-5 ปี ก็ลาออกตอนปี 2544
เขาเล่าต่อว่า ก่อนจะลาออกจากแบงก์ตอนปี 2542 ก็หวนกลับมาลงทุนในตลาดหุ้นอีกครั้ง ตอนนั้นดัชนียืนแถวๆ 200 จุด โดยหอบเงินหลักแสนมาเปิดพอร์ตลงทุนกับ บงล.พูนพิพัฒน์ เพราะรู้มาว่า ภาวะเศรษฐกิจเมืองไทยกำลังจะผ่าน “จุดเลวร้าย” ตอนนั้นเลือกซื้อใบสำคัญแสดงสิทธิ บล.เอกธำรง (S-ONE-W3) ประมาณ 1 ล้านหน่วย ราคา 0.60 บาท เพราะเห็นว่าเขาไม่มีหนี้ ความเสียหายจากปี 2540 เคลียร์ไปหมดแล้ว เท่าที่ดูทุนบริษัทแล้วยังไงเขาก็อยู่ได้ สาเหตุที่เลือกซื้อวอร์แรนท์ เพราะราคาขึ้นเร็วมากเมื่อเทียบกับหุ้นแม่ และราคาตัวแม่แพงกว่าวอร์แรนท์ 1-2 บาท โชคดีที่ไม่ได้แปลงวอร์แรนท์ เพราะผ่านมา 3 เดือน ขายไป 3.60 บาท ได้กำไรมา 5 เท่า
เมื่อรู้สึกว่า เรามาถูกทาง ก็เริ่มไปไล่ซื้อหุ้นพื้นฐาน แต่เป็นบริษัทไม่ค่อยดังเท่าไร เช่น หุ้น โอเชียนกลาส (OGC) หุ้น ซีเอ็ดยูเคชั่น (SE-ED) หุ้น แมนดารินโฮเต็ล (MANRIN) และหุ้น ไทยแลนด์ไอออนเวิคส์ (TIW) เป็นต้น ช่วงนั้นได้ผลตอบแทนจากการลงทุนดีมากเฉลี่ย 50% ผ่านมา 1-2 ปี พอร์ตการลงทุนเติบโตขึ้นจาก “หลักแสนบาท” เป็น “หลักล้านบาท”
"กลับมาครั้งนั้นผมตั้งใจจะลงทุนเพียง “หุ้นพื้นฐาน” อย่างเดียว ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าลงทุนแบบนี้ เขาเรียกว่าแนว VI รู้เพียงว่าต้องลงทุนหุ้นพื้นฐานเหมือน “ปีเตอร์ ลินซ์” เท่านั้น “ปีเตอร์ ลินซ์” เขาเป็นผู้บริหารกองทุนแม็คเจ็ลลันที่สามารถสร้างผลตอบแทนที่สูงถึง 29% แบบทบต้นในระยะเวลา 13 ปี ช่วงนั้นผมพยายามบอกคนรู้จักให้ลงทุนหุ้นพื้นฐาน แต่เขาไม่เชื่อ ทั้งๆ ที่เห็นว่าเราได้กำไร เพราะช่วงนั้นหลายคนยังมีความเชื่อว่าเล่นหุ้นต้องเล่นตัวที่มีเจ้ามือเท่านั้น ผมก็เลยต้องปล่อยเขาไป"
เซียนหุ้นพอร์ต 9 หลัก เล่าว่า เคยขาดทุนหุ้นตัวหนึ่ง ไม่ขอเอ่ยชื่อ หุ้นตัวนั้นพื้นฐานดี งบการเงินดี แต่เสียตรงที่ผู้บริหารไม่ซื่อตรง ตอนเข้าไปฟังข้อมูลบริษัทก็เริ่มรู้แล้วล่ะ! เพราะถามอะไรไปเข้าตอบไม่เต็มปาก สุดท้ายจึงต้องยอมขายขาดทุน 10-20% แรกๆ ที่หันมาลงทุนแนว VI พอร์ตยังมีแต่หุ้นไซด์เล็กที่ไม่ค่อยขยับเขยื้อนเท่าไร ตรงกันข้ามกับหุ้นกลุ่มแบงก์ที่วิ่งขึ้นทุกวัน ตัวเองยังเคยแอบเผลอใจอยากขายหุ้นตัวเองทิ้งแล้วไปเล่นหุ้นแบงก์ แต่วันหนึ่งก็คิดได้ว่าไม่เอาดีกว่า โชคดีช่วงนั้นทำงานแบงก์ทำให้รู้ว่า แท้จริงแล้วแบงก์ไม่ได้ดีมากขนาดนั้น ซึ่งการขึ้นของตลาดหุ้นในครั้งนั้นมันไม่ปกติ
"นักลงทุนสมัยใหม่อยาก “รวยเร็ว” ทำให้คนบางคนเข้าไปเสี่ยงเล่นหุ้นเก็งกำไร เชื่อผมสิ! มันไม่ได้อะไรนอกจากความสนุก ถ้าอยากรวยในตลาดหุ้นพวกคุณควร “อดทนรอ” อย่าเร่งรีบ..เดินไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็ถึงเป้าหมาย" ฉัตรชัย กล่าวทิ้งท้าย ก่อนเริ่มต้นเล่ากลยุทธ์การลงทุนที่ BizWeek จะนำเสนอต่อในสัปดาห์หน้า
Tags : ฉัตรชัย วงแก้วเจริญ