Monday, October 15, 2012

ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร กลยุทธ์ยามหุ้นแพง


กลยุทธ์ยามหุ้นแพง.....เริ่ด ^^
ฝากบทความไว่ให้ช่วงบ่ายครับผม

ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
กลยุทธ์ยามหุ้นแพง

ในยามที่หุ้นส่วนใหญ่ในตลาดมีราคาไม่ถูกแล้ว แต่ราคาหุ้นโดยทั่วไปก็ยังไม่ถึงขั้นที่จะเป็น “ฟองสบู่” นั่นก็คือ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์อยู่ในเกณฑ์ที่สูงและมีค่า PE สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตประมาณ 30-40% อย่างที่เห็นในช่วงนี้ เราในฐานะของ Value Investor ควรจะทำอย่างไร? คำตอบของ VI แต่ละคนอาจจะแตกต่างกันไป ลองมาดูกัน
มุมมอ
งหนึ่งซึ่งอาจจะเป็นแนว “VI พันธุ์แท้” หรือบางทีก็อาจจะเป็น “VI ใสซื่อ” ก็คือ “เราไม่สนใจตลาด ถ้าเราพบว่ามีหุ้นที่ยังมีราคาถูกกว่ามูลค่าพื้นฐานมาก มี Margin Of Safety หรือส่วนต่างของความปลอดภัยสูง เราก็จะซื้อ” บางคนอาจจะพูดต่อว่า เขายังพบหุ้นที่มีราคาถูกเป็นหุ้น VI อีกไม่น้อยแม้ในยามที่หุ้นในตลาดโดยทั่วไปมีราคาค่อนข้างแพง ดังนั้น ตลาดหุ้นจะเป็นอย่างไรเขาก็ไม่สนใจ เขาสนใจเฉพาะหุ้นเป็นรายตัว
คอมเม้นท์ของผมก็คือ แน่นอน ในยามที่ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นมาและค่า PE สูง เราก็จะยังมีหุ้นที่ “ถูก” หรือมีค่า PE ต่ำ นอกจากนั้นค่า PB ก็อาจจะต่ำด้วย รวมถึงอัตราผลตอบแทนปันผลก็อาจจะสูง ถ้าดูโดยตัวเลขก็ต้องบอกว่ามันคือหุ้นที่มีราคาถูก แต่ถ้าวิเคราะห์อย่างลึกซึ้ง หุ้นตัวนั้นอาจจะไม่ใช่หุ้นที่น่าลงทุนก็ได้ เพราะมันอาจจะมีปัญหาหรือกำไรในอนาคตอาจจะถดถอยลงเนื่องจากปัจจัยทางด้านคุณภาพ เช่น มันอาจจะอยู่ในอุตสาหกรรมที่กำลังตกต่ำลง หรือมันอาจจะเป็นหุ้นวัฏจักรที่กำลังเข้าสู่วัฎจักรขาลง ต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นต้น ซึ่งทำให้หุ้นมีราคาถูกอย่างที่เห็น แต่ไม่ใช่หุ้น Value ดังนั้น การที่เราบอกว่า เราสนใจเฉพาะตัวหุ้น ไม่สนใจภาวะตลาดนั้น จริง ๆ ก็เป็นสิ่งที่ถูกต้องโดยหลักการ แต่ในยามที่ตลาดหุ้นบูม เราจะต้องระมัดระวังมากเป็นพิเศษว่า หุ้นที่เราเห็นว่ามีราคาถูกโดยดูจากตัวเลขเช่น ค่า PE นั้น อาจจะเป็น “กับดัก” ที่ทำให้เรา “ติด” ได้ เหนือสิ่งอื่นใด เราต้องคิดว่า ถ้ามันหาง่ายอย่างนั้น คนก็คงจะเจอแล้วก็ซื้อมันและทำให้ราคามันขึ้นไปก่อนหน้านี้แล้ว คงไม่ปล่อยให้มันมี PE ต่ำมากอยู่อย่างนั้นโดยเฉพาะในยามที่มี “VI” อยู่เต็มตลาดหุ้น
มุมมองอีกแนวหนึ่งก็คือ ในยามที่หุ้นในตลาดปรับตัวขึ้นมาก เราควรจะ Switch หรือเปลี่ยนตัวหุ้น จากหุ้นที่เราได้กำไรมากหรือหุ้นที่มีการปรับตัวขึ้นไปมากและราคาหุ้นเริ่มแพงแล้ว แล้วเอาเงินไปซื้อหุ้นที่ยังเป็น “Laggard” หรือหุ้นที่ยังไม่ค่อยได้ขึ้นไปเท่าไรและราคาอาจจะยังถูกเมื่อเทียบกับหุ้นอื่น ๆ ในตลาด แนวความคิดนี้อาจจะดูเหมือนว่าไม่ใช่แนว VI เพราะอาจจะไม่ได้วิเคราะห์ว่าหุ้นนั้นมี Margin Of Safety มากน้อยแค่ไหน แต่ไปดูจากการเปรียบเทียบว่าหุ้นตัวไหนราคาถูกกว่าอีกตัวหนึ่งแทนที่จะดูว่าตัวมันเองคุ้มค่าหรือไม่กับพื้นฐานของมัน อย่างไรก็ตาม VI ที่มองในแนวนี้ก็อาจจะบอกว่า หุ้นตัวใหม่ที่เขาจะซื้อนั้น จะต้องเข้าข่ายว่าเป็นหุ้น “VI” ด้วย นั่นก็คือ เขาอาจจะกำลังบอกว่า เขา Switch จากหุ้น VI ที่แพง ไปสู่หุ้น VI ที่ถูกกว่า มี Margin Of Safety สูงกว่า
คำวิจารณ์ของผมก็คือ คนที่คิดแบบนั้นอาจจะมีความคิดว่า ราคาหุ้นที่เป็น VI แต่ละตัวนั้น เมื่อเวลาผ่านไปจะต้องวิ่งไปหา “มูลค่าที่แท้จริง” เช่น ราคาหุ้นปัจจุบันเท่ากับ 7 บาท มูลค่าที่แท้จริงที่คำนวณได้อาจจะเป็น 10 บาท ดังนั้น หุ้นก็น่าจะวิ่งขึ้นไปอีก 30 กว่าเปอร์เซ็นต์ในอนาคต ทีนี้ถ้ามีหุ้น 2 ตัวที่ต่างก็เป็นหุ้น VI ในสายตาของเขา แต่หุ้นตัวที่หนึ่งที่เขาซื้อไว้แล้วมีราคาวิ่งขึ้นไปเป็น 10 บาทอย่างรวดเร็ว เขาก็อาจจะคิดว่ามัน “เต็มมูลค่า” แล้ว ในขณะที่หุ้น VI ตัวที่สองนั้น ราคายังไม่ได้ไปไหน ซึ่งทำให้มันน่าจะมีโอกาสที่จะปรับตัวขึ้นไปได้ในอนาคต ดังนั้น เขาจึงขายหุ้นตัวแรกและหันไปซื้อหุ้นตัวที่สอง โดยที่เขาสรุปว่าหุ้นตัวแรกนั้นไม่ได้เป็นหุ้น VI แล้วหรือเป็นหุ้น VI ที่จะมี Upside หรือโอกาสที่จะปรับตัวขึ้นอีกน้อยลง ในขณะที่หุ้นตัวที่สองยังเป็นหุ้น VI ที่มีโอกาสปรับตัวขึ้นมากกว่า
ผมเองคิดว่าการ Switch หุ้นในยามที่ดัชนีหุ้นปรับตัวขึ้นและหุ้นส่วนใหญ่ปรับตัวขึ้นตามดัชนีตลาดนั้น อาจจะไม่ใช่กลยุทธ์ที่ดีนัก เหตุผลก็คือ ในยามที่ตลาดหุ้นคึกคัก หุ้นที่จะ “ถูกละเลย” นั้นน่าจะมีน้อย การที่หุ้นตัวหนึ่งวิ่งได้ดีหรือมากกว่าหุ้นอีกตัวหนึ่งนั้นอาจจะเป็นเพราะว่าหุ้นตัวแรกมีพื้นฐานหรือคุณสมบัติดีกว่าหุ้นตัวที่สอง การวิเคราะห์เดิมของเราอาจจะผิดพลาด ที่สำคัญ มูลค่าของหุ้นตัวแรกอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปในขณะที่หุ้นตัวที่สองนั้นมูลค่าของกิจการไม่ได้เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกรณีใด การ Switch นั้นอาจจะมีโอกาส “ชนะ” ไม่มากและอาจจะไม่คุ้มกับค่าคอมมิชชั่นและส่วนต่างราคาซื้อขายที่เราจะต้องเสีย เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ มันอาจจะทำให้เราต้องเสียหุ้นที่ดีและได้หุ้นที่เลวกว่ามาแทนในทำนอง “ขายหมูแล้วไปซื้อควายมา” อย่างที่พูดกันในหมู่ VI
มุมมองสุดท้ายที่หลายคนอาจจะทำก็คือ การขายหุ้นเพื่อถือเงินสดและหวังว่าจะกลับมาซื้อหุ้นคืนเมื่อราคาหุ้นปรับตัวลง นี่เป็นกลยุทธ์ที่คล้ายกับนักเก็งกำไรที่จะ “เล่นหุ้นเป็นรอบ” นั่นก็คือ ซื้อหุ้นเมื่อดัชนีปรับตัวลงและขายหุ้นเมื่อราคาหุ้นปรับตัวขึ้นสูง ปีหนึ่งอาจจะเล่นหุ้นไม่กี่ครั้ง แต่สำหรับ VI นั้น เขาอาจจะคิดว่ารอบของเขาอาจจะใหญ่หรือยาวกว่า นั่นก็คือ ถ้าหุ้นขึ้นมาสูงจนหุ้นส่วนใหญ่แพงเกินไปและอาจจะเลยพื้นฐานไปแล้ว การหาหุ้นถูกยากมาก ดังนั้น เขาก็ควรจะขายหุ้นทิ้งแล้วถือเงินสด เขาเชื่อว่าในที่สุด ราคาหุ้นก็น่าจะปรับตัวลงมาซึ่งจะทำให้เขาสามารถซื้อหุ้นตัวเดิมหรือหุ้นตัวใหม่ในราคาที่ต่ำลง ซึ่งทำให้ผลตอบแทนของเขาดีขึ้น เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ เขาคิดว่าการถือเงินสดนั้นปลอดภัยกว่าหุ้นที่อาจจะมีการปรับตัวลงครั้งใหญ่ซึ่งทำให้ความมั่งคั่งที่เขาทำได้มากและรวดเร็วต้องหายไป
ความเห็นของผมก็คือ การถือเงินสดนั้น แม้ว่าจะปลอดภัยในแง่ที่เม็ดเงินจะไม่ลดลงแต่มันก็แทบไม่ให้ผลตอบแทนเลย ข้อดีที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือถ้าเกิดวิกฤติหรือตลาดหุ้นตกลงมารุนแรงและทำให้หุ้น VI ที่เราสนใจมีราคาลดลงมาก เราก็จะได้ซื้อหุ้นถูกและทำให้ผลตอบแทนในอนาคตสูงขึ้น แต่เหตุการณ์นั้นจะมีโอกาสเกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหนเราก็ไม่รู้ หลายคนอาจจะบอกว่าเหตุการณ์ในยุโรปนั้นน่ากลัวมากน่าจะมีโอกาสสูงที่ยุโรปจะประสบปัญหาทางเศรษฐกิจรุนแรงและนั่นน่าจะทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกและตลาดหุ้นไทยตกลงมารุนแรงได้ ประเด็นนี้ผมเองไม่อยากที่จะให้ความเห็น แต่ประสบการณ์ก็คือ วิกฤติมักจะเกิดขึ้นตอนที่ไม่มีใครคาดคิด เหตุการณ์ในยุโรปนั้นเป็นสิ่งที่ทุกคนรับรู้และรับทราบมาโดยตลอด ดังนั้น ตลาดหุ้นก็ “รับข่าว” และปรับตัวลงมามากแล้ว การที่ตลาดหุ้นจะเกิดวิกฤติและมีการปรับตัวลงมาก ๆ ก็น่าจะน้อยลง ดังนั้น การตัดสินใจโดยอิงอยู่กับสิ่งที่ยังไม่แน่นอนจึงเป็นเรื่องของการเก็งกำไรที่มีโอกาสได้เสียเท่า ๆ กัน
สุดท้ายสำหรับตัวผมเองว่าจะทำอย่างไรในสถานการณ์หุ้นแพง คำตอบก็คือ ผมแทบจะไม่ทำอะไร โดยเฉพาะในยามที่หุ้นยังไม่ได้เป็น “ฟองสบู่” ประเด็นต่อมาก็คือ ผมทำอะไรกับเงินสดที่อาจจะได้มาจากปันผลหรือจากแหล่งอื่น คำตอบก็คือ ผมก็อาจจะถือเป็นเงินสดไว้ หรือไม่ก็ลงทุนในหุ้นที่มั่นคงมากในแง่ผลประกอบการที่ยังให้ผลตอบแทนปันผลพอสมควร อาจจะ 4-5% เทียบกับเงินฝากที่ 1-2% ซึ่งหุ้นในกลุ่มนี้ผมมักจะเรียกว่า “หุ้นพันธบัตร” ซึ่งหลายตัวเป็นผู้ให้บริการสาธารณูปโภคที่มีรายได้และกำไรค่อนข้างแน่นอนและมีการเติบโตบ้างแต่ราคาไม่แพงเท่าไรนัก

No comments:

Post a Comment